วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

การออกแบบระบบการเรียนการสอน

การออกแบบระบบการเรียนการสอน (Instructional System design) มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional design) การออกแบบและพัฒนาการสอน (Instructional design and development) เป็นต้น ไม่ว่าชื่อจะมีความหลากหลายเพียงใด แต่ชื่อเหล่านั้นก็มากจากต้นตอเดียวกัน คือมาจากแนวคิดในการใช้กระบวนการของวิธีระบบ (system approach)
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบ
.....ในการดำเนินงานใด ๆ ก็ตาม ผู้รับผิดชอบจะต้องคำถึงถึงประสิทธิผล (Effectiveness) และประสิทธิภาพ (efficiency) ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพนั้นมักจะนำแนวคิดของระบบ (system) มาใช้ ทั้งนี้เพราะระบบจะประกอบด้วยวิธีการที่จะทำให้เราได้หลักการและกระบวนการในการทำงานเนื่องจากระบบจะมีกลไกในการปรับปรุง แก้ไข การทำงานในตัวเองของมันเอง โดยการใช้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ทั้งนี้ถ้าเราเข้าใจระบบเราก็สามารถนำแนวความคิดไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ความหมายของระบบ
.....มีผู้ให้ความหมายขอคำว่า ระบบ” (system) ไว้หลายคน เช่น บานาธี่ (Banathy, 1968) หรือ วอง (Wong, 1971) บานาธี่ ได้ให้ความหมายของคำว่าระบบว่า ระบบ หมายถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้จะร่วมกันทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ความหมายของระบบตามแนวทางของวองก็จะมีลักษณะแนวทางใกล้เคียงกับของบานาธี่ โดยวองให้ความหมายของระบบวา ระบบ หมายถึง การรวมกลุ่มของส่วนประกอบต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้จากความหมายข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าระบบจะต้องมี
.....1. องค์ประกอบ
.....2. องค์ประกอบนั้นต้องมีความสัมพันธ์ มีการโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กันและ
.....3. ระบบต้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ

ลักษณะของระบบที่ดี
.....ระบบที่ต้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีความยั่งยืน (sustainable) การมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ระบบนั้นจะต้องมีลักษณะ 4 ประการคือ
.....1. มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (interact with environment)
.....2. มีจุดหมายหรือเป้าประสงค์ (purpose)
.....3. มีการรักษาสภาพตนเอง (self – regulation)
.....4. มีการแก้ไขตนเอง (self – correction)


ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้
             การออกแบบการเรียนรู้เป็นหลักฐานร่องรอยในการประเมินความสามารถของครูผู้สอนว่า ครูได้จัดการเรียนรู้ตรงกับเจตจำนงที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่ จึงเป็นภารกิจสำคัญของครูในการเริ่มต้นพัฒนาวิชาชีพ เพื่อเข้าสู่การมีและเลื่อนวิทยฐานะทุกระดับ การออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจึงเป็นภาระงานที่ต้องกระทำอย่างรอบคอบ ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ 
 1. วิเคราะห์สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ 
 2. กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
3. จัดทำคำอธิบายรายวิชา
4. จัดทำสาระการเรียนรู้
5. กำหนดหน่วยการเรียนรู้
6. วางแผนการเรียนรู้
ออกแบบการจัดกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิด Backward Design

การออกแบบการจัดการเรียนรู้
                การจัดการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์  ดังนั้นผู้สอนควรพิจารณาเลือกใช้เทคนิคกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม  เลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน  และใช้วิธีการวัดผลประเมินผลที่หลากหลาย  ทั้งนี้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน  และสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้

กระบวนการจัดการเรียนรู้
                1.  กำหนดจุดประสงค์และสาระสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้
                2.  วิเคราะห์จุดประสงค์ สื่อและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศักยภาพของผู้เรียนและผู้สอน
                3.  ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์
                4.  ออกแบบปฏิสัมพันธ์ในแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเลือกใช้กระบวนการกลุ่มที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ
                5.  เตรียมใบช่วยสอน สื่อ/อุปกรณ์ และแหล่งการเรียนรู้อื่น ๆ
                6.  ออกแบบการประเมินผลและเครื่องมือ
                7.  จัดการเรียนรู้และบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้
                8.  ปรับปรุงและพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้

องค์ประกอบการเรียนรู้
                เป็นโครงสร้างของกระบวนการเรียนรู้  ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามศักยภาพ  ซึ่งจากการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบต่าง ๆ พบว่ามีโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน 4 องค์ประกอบ คือ
                1.  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
                2.  การสร้างความรู้ร่วมกัน
                3.  การนำเสนอความรู้
                4.  การประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติ
                1.  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
                เป็นองค์ประกอบที่ผู้สอนพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนดึงประสบการณ์เดิมของตนมาเชื่อมโยง หรืออธิบายประสบการณ์หรือเหตุการณ์ใหม่  แล้วนำไปสู่การขบคิดเพื่อเกิดข้อสรุปหรือความรู้ใหม่  และแบ่งเป็นประสบการณ์ของตนเองกับผู้อื่นที่อาจมีประสบการณ์เหมือนหรือต่างจากตนเอง  เป็นการรวบรวมมวลประสบการณ์ที่หลากหลายจากแต่ละคนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกัน
                องค์ประกอบนี้ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้สอน ดังนี้
                ผู้เรียน  รู้สึกว่าตนมีความสำคัญเพราะได้มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก  มีผู้ฟังเรื่องราวของตนเองและได้รับรู้เรื่องราวของคนอื่น  นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้วยังทำให้สัมพันธภาพในกลุ่มผู้เรียนเป็นไปด้วยดี
                ผู้สอน  ไม่เสียเวลาในการอธิบายหรือยกตัวอย่าง  เพียงแต่ใช้เวลาเล็กน้อยในการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน  และยังช่วยให้ผู้สอนได้ทราบถึงความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมของผู้เรียน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป
                ในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่สอนหรือมีน้อย  ผู้สอนอาจต้องจัดประสบการณ์ให้  ซึ่ง ทำได้ทั้งทางตรง เช่น การนำตัวอย่างของจริงมาให้ผู้เรียนได้สัมผัสเพื่อสังเกตความแตกต่าง และทางอ้อม เช่น การเล่าประสบการณ์ชีวิตจากเรื่องที่ไม่สามารถจัดประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียน ได้
                กิจกรรมในองค์ประกอบนี้เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ การตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่มาจากประสบการณ์หลากหลายของผู้เรียน และการจัดประสบการณ์ที่จำเป็นให้ผู้เรียนเพื่อความเข้าใจหรือกระตุ้นให้เกิดการคิด โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้านดังนี้
                ด้านความรู้  เป็นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่จะสอน
                ด้านเจตคติ  เป็นการจัดประสบการณ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้เรียน  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสอดคล้องกับจุดประสงค์  และนำไปสู่การสะท้อนความคิดเห็นและอภิปรายเกี่ยวกับความคิดความเชื่อต่อไป
                ด้านทักษะ  เป็นการให้ผู้เรียนได้ทดลองทำทักษะนั้น ๆ ตามประสบการณ์เดิมหรือสาธิตการทำทักษะเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจชัดเจน

                2.  การสร้างความรู้ร่วมกัน
                เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้คิด  วิเคราะห์  สังเคราะห์  สร้างสรรค์มวลประสบการณ์ข้อมูล  ความคิดเห็น  ฯลฯ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ชัดเจน  หรือเกิดข้อสรุป/ความรู้ใหม่หรือตรวจสอบ/ปรับ/เปลี่ยนความคิดความเชื่อของตนเอง
                กิจกรรมในองค์ประกอบนี้  เป็น กิจกรรมกลุ่มที่เน้นการตั้งประเด็นให้ผู้เรียนได้คิดสะท้อนความคิดหรือบอก ความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้และได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดระหว่าง กันอย่างลึกซึ้ง  จนเกิดความเข้าใจชัดเจนได้ข้อสรุปหรือความรู้ใหม่หรือเกิด/ปรับ/เปลี่ยนความคิดความเชื่อตามจุดประสงค์ที่กำหนด โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน ดังนี้
                ด้านความรู้  ตั้งประเด็นให้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เพื่อสรุปความรู้ใหม่ที่ได้ผ่านกระบวนการคิด  วิเคราะห์  สังเคราะห์  นำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การสรุปสาระสำคัญ  การวิเคราะห์  กรณีศึกษา  การวิเคราะห์เปรียบเทียบ  การวิเคราะห์แยกประเภทหรือจัดกลุ่มการวิเคราะห์ประเด็นความรู้เพื่อหาข้อสรุปและนำไปสู่ความคิดรวบยอด ฯลฯ
                ด้านเจตคติ  ตั้งประเด็นอภิปรายที่ท้าทาย  กระตุ้นให้เกิดการคิดหลากหลาย เน้นในเรื่องคุณค่าอารมณ์ความรู้สึก  ความคิดความเชื่อ  มีความสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้เรียนและนำไปสู่จุดประสงค์ที่ต้องการ  ข้อสรุปจากการอภิปรายและความคิดรวบยอดที่ได้จะสอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนด
                ด้านทักษะ  ตั้งประเด็นให้อภิปรายโต้แย้งกันในเรื่องขั้นตอนการลงมือทำทักษะ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในแนวทางปฏิบัติทักษะนั้น และเกิดความมั่นใจก่อนจะได้ลงมือฝึกปฏิบัติจนชำนาญ

                3.  การนำเสนอความรู้
                เป็นองค์ประกอบที่เน้นให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลความรู้  แนวคิด  ทฤษฎี  หลักการ  ขั้นตอน  หรือข้อสรุปต่าง ๆ โดยครูเป็นผู้จัดให้เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการสร้างความรู้ใหม่หรือช่วยให้การเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์
                กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ ได้แก่
                -  การให้แนวคิด ทฤษฎี  หลักการ  ข้อมูลความรู้  ขั้นตอนทักษะ  ซึ่งทำได้โดยการบรรยาย  ดูวีดีทัศน์  ฟังแถบเสียง  อ่านเอกสาร/ใบความรู้/ตำรา  ฯลฯ
                -  การรวบรวมประสบการณ์ของผู้เรียนที่เป็นผลให้เกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระเพิ่มขึ้น
                -  ความคิดรวบยอดที่ได้จากการรวบรวมข้อสรุปของการสะท้อนความคิดและอภิปรายประเด็นที่ได้มอบหมายให้
                กิจกรรมเหล่านี้ควรทำเป็นขั้นตอนและประสานกับองค์ประกอบการเรียนรู้อื่น ๆ โดยมีจุดเน้นสำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน ดังนี้
                ด้านความรู้  ผู้เรียนเกิดความรู้ในเนื้อหาสาระ  ข้อมูลความรู้อย่างชัดเจน
                ด้านเจตคติ  ผู้เรียนเกิดความรู้สึกและความคิดความเชื่อที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดให้
                ด้านทักษะ  ผู้เรียนรับรู้แนวทางปฏิบัติตามขั้นตอนของทักษะนั้น ๆ อย่างชัดเจน

                4.  การประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติ
                เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้นำความคิดรวบรวมหรือข้อสรุป  หรือความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์หรือทดลองใช้  หรือเป็นการแสดงผลสำเร็จของการเรียนรู้ในองค์ประกอบนั้น ๆ ซึ่งผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ในการประเมินผลการเรียนรู้  เมื่อ พิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ รู้จักการนำไปใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่แค่เรียนรู้เท่านั้น
                จุดเน้นของกิจกรรมในองค์ประกอบนี้สำหรับจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละด้าน  มีดังนี้
                ด้านความรู้  เป็นการผลิตซ้ำความคิดรวบยอดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สร้างคำขวัญ  ทำแผนภาพ  จัดนิทรรศการ  เขียนเรียงความ  ทำรายงานสรุปสาระสำคัญ  ทำตารางวิเคราะห์/เปรียบเทียบ ฯลฯ
                ด้านเจตคติ  เป็นการแสดงออกที่สอดคล้องกับเจตคติที่เป็นจุดประสงค์การเรียนรู้  เช่น  เขียนจดหมายให้กำลังใจผู้ติดเชื้อเอดส์  สร้างคำขวัญรณรงค์รักษาความสะอาดในโรงเรียน ฯลฯ
                ด้านทักษะ  เป็นการลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนทักษะที่ได้เรียนรู้

                การนำองค์ประกอบทั้ง 4 มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะใช้องค์ประกอบใดก่อนหลังหรือใช้องค์ประกอบใดกี่ครั้งในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ สามารถออกแบบตามความเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้และจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนด แต่จำเป็นต้องให้มีครบทั้ง 4 องค์ประกอบ ในแต่ละองค์ประกอบสามารถออกแบบกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ดังที่จะกล่าวต่อไป

การออกแบบกิจกรรม
                มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนทำกิจกรรมได้ตรงตามความต้องการของผู้สอน  และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
                หลักการในการออกแบบกิจกรรม  มีดังนี้
                1.  จัดกิจกรรมให้ครบ 4 องค์ประกอบ การเรียนรู้แต่ละกิจกรรมควรมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
                2.  กำหนดกิจกรรมที่ชัดเจนว่าจะให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มอย่างไร  เพื่อทำอะไร  ใช้เวลามากน้อยแค่ไหน  โดยจัดเวลาให้เหมาะสมตามความสำคัญของแต่ละองค์ประกอบการเรียนรู้  เมื่อทำงานเสร็จแล้วให้ทำอะไรต่อ เช่น ส่งตัวแทนนำเสนอผลงาน  นำผลงานไปติดบอร์ดให้สมาชิกทั้งชั้นได้อ่าน ฯลฯ
                3.  กำหนดบทบาทของกลุ่มและสมาชิกแต่ละคนให้ชัดเจน โดยทั่วไปควรให้แต่ละกลุ่มมีบทบาทที่ต่างกัน เมื่อนำมารวมกันในชั้นจะเกิดการขยายการเรียนรู้  ไม่ซ้ำซ้อนน่าเบื้อและใช้เวลาน้อยลง  โดยเฉพาะการทำกิจกรรมที่จะต้องมีการจัดสรรบทบาทสมาชิก  ควรกำหนดบทบาทสมาชิกให้ชัดเจน เช่น เป็นผู้เล่นบาทบาทสมมติ  เป็นผู้สังเกตการณ์  เป็นตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลงานในชั้น  ฯลฯ
                4.  กำหนดโครงสร้างของงานที่ชัดเจน บอกรายละเอียดของกิจกรรม บทบาทสมาชิกในกลุ่มกรอบการทำงานที่เป็นรูปธรรม กำหนดเวลาทำงานในกลุ่มและเวลาในการนำเสนอ  ตลอด จนสิ่งอื่น ๆ ที่จะช่วยให้กลุ่มทำงานได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่น ตารางนำเสนอผลงานกลุ่มตารางวิเคราะห์ผลการอภิปรายกลุ่มแผนภูมิก้างปลา ฯลฯ
                โครงสร้างของงานนี้สามารถออกแบบจัดทำเป็นใบกิจกรรมแจ้งแก่ผู้เรียนหรือเขียนลงแผ่นโปรงใสฉายขึ้นจอ  เป็นต้น

การออกแบบปฏิสัมพันธ์
                จากผลการวิจัยกระบวนการเรียนรู้แบบเดิมที่เน้นครูเป็นศิษย์กลางพบว่า  มีผลต่อผู้เรียนดังนี้
                1.  ผู้เรียนขาดประสิทธิภาพในการทำงานกลุ่ม ขาดทักษะในการวางแผนการอภิปราย การคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
                2.  การเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ครูใช้วิธีสอนแบบเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้น ซึ่งมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เรียนบางคนไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จทางการเรียนได้ เพราะคนเก่งจะเรียนรู้ได้ดีกว่า  คนที่ไม่เก่งอาจถูกละเลยไป
                3.  ผู้เรียนส่วนใหญ่จะบรรลุจุดมุ่งหมายเฉพาะตน ก่อให้เกิดการแข่งขันเป็นรายบุคคล  ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม  ขาดความร่วมมือ  ขาดความรักและสามัคคีในหมู่คณะ  ทำให้เป็นคนที่ไม่รู้จักการเสียสละและเห็นแก่ตัวในที่สุด
                การออกแบบปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  จึงเป็นการจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกลุ่มให้มากที่สุด  แทนการฟังบรรยายอย่างเดียว  เนื่องจากข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ ในเรื่องการเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่มพบว่า
                1.  ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีความสามารถและมีการพัฒนาทักษะต่าง ๆ มากขึ้นเพราะกลุ่มเป็นที่รวมของประสบการณ์ของคนหลายคน  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันนอกจากนี้กลุ่มยังเป็นแรงจูงใจซึ่งกันและกัน  ส่งผลให้ทำงานประสบผลสำเร็จมากขึ้น
                2.  ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจริยธรรม  กล้าแสดงความคิดเห็น  ฝึกตัดสินใจและแก้ปัญหา  รู้จักวางแผน  มีวินัย  มีความรับผิดชอบ  รู้จักเป็นผู้นำ/ผู้ตาม  ปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยตลอดจนเรียนรู้ค่านิยมที่ดีระหว่างผู้เรียน  ความเห็นอกเห็นใจ  การช่วยเหลือและการยอมรับซึ่งกันและกันโดยไม่แบ่งแยก
                3.  ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  เพราะการมีปฏิสัมพันธ์และการได้ลงมือคิดเองทำเอง  ทำให้การเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสนุกสนาน  มีชีวิตชีวา  มีความซาบซึ้ง  จดจำได้นาน  ออกจากนี้ยังเป็นการฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม
                โดยภาพรวมแล้วการเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่มจะช่วยปลูกฝังความใฝ่รู้และความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองแก่ผู้เรียน
                การเลือกประเภทของกลุ่มให้เหมาะสมกับแต่ละกิจกรมการเรียนรู้  จึงช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเกิดขึ้นอย่างเต็มที่  เมื่อรวมกับการออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด  จึงทำให้ผู้เรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน
                หลักการออกแบบปฏิสัมพันธ์  มีข้อพิจารณาดังนี้
                1.  ความยากง่ายในการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์  กลุ่มยิ่งเล็ก  การมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์จะยิ่งง่ายขึ้น  ดังนั้นกลุ่ม 2 คน จะมีปฏิสัมพันธ์ได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
                2.  ความลึกซึ้งของการแสดงความคิดเห็น  กลุ่มที่มีสมาชิกมากกว่าจะสามารถทำงานได้ด้วยความคิดที่ลึกซึ้งและหลากหลายมากกว่า  ดังนั้น 5-6 คน จึงทำงานได้ลึกซึ้งสมบูรณ์กว่ากลุ่มที่มีสมาชิกน้อยกว่า
                จากการวิจัย  พบว่ากลุ่มที่มีสมาชิกเกินกว่า 6 คน จะทำให้การมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ลดลงเนื่องจากมักจะแตกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีกทีหนึ่งแทนที่จะปฏิสัมพันธ์กันทั้งกลุ่ม
                3.  การกำหนดบทบาทของผู้เรียนในการทำงานกิจกรรมชนิดต่าง ๆ กิจกรรมบางประเภทไม่จำเป็นต้องกำหนดบทบาทสมาชิกที่ชัดเจน  ขณะที่กิจกรรมบางประเภทต้องกำหนดบทบาทของสมาชิกกลุ่ม  จึงควรเลือกชนิดของกลุ่มที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ ได้แก่
3.1 กลุ่มที่ไม่มีการกำหนดบทบาทสมาชิก  ได้แก่  กลุ่ม 2 คน  กลุ่ม 3-4 คน  กลุ่มใหญ่คือทั้งชั้น
3.2 กลุ่มที่มีการกำหนดบทบาทสมาชิก ได้แก่  กลุ่ม 3 คน  กลุ่ม 5-6  คน  และกลุ่มนอกเหนือจากนี้  ซึ่งสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรมแต่ละประเภท
    3.3 กลุ่มใหญ่ทั้งชั้น จัดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน มักใช้ในกิจกรรมที่ต้องการให้มีส่วนร่วมพร้อมกันทั้งนั้น เช่น การบรรยายให้หลักการ/แนวคิด/ทฤษฎี การรายงานผล การอภิปรายกลุ่ม การดูสื่อ ฟังกรณีศึกษา การรวบรวมประสบการณ์ ฯลฯ

กิจกรรมเสนอแนะ
                เป็นกิจกรรมที่เสนอแนะไว้เป็นทางเลือก  เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเรียนที่แตกต่างกัน  และยังเป็นกิจกรรมที่เสนอไว้สำหรับทำต่อเนื่อง  นอกเหนือไปจากชั่งโมงการเรียนรู้ เช่น อาจแจกงานให้นักเรียนทำนอกเวลาเรียนแล้วส่งเป็นผลงาน  ใช้จัดทำเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร  เป็นต้น  นอกจากนี้อาจเป็นกิจกรรมที่เสนอแนะเปิดกว้างให้ผู้เรียนเลือกทำตามความสนใจและความถนัดได้ด้วย
                ตัวอย่างกิจกรรมเสนอแนะ
                -  การสรุปผลงานที่เกิดในชั่วโมงการเรียนรู้นำมาติดบอร์ด
                -  หนังสืออ่านเพิ่มเติมนอกเวลา
                -  ทัศนศึกษาสถานที่ในประวัติศาสตร์
                -  ตัดข่าวที่น่าสนใจนำมาสรุปให้เพื่อนฟังในชั่วโมงโฮมรูม
วิธีการเชิงระบบในการออกแบบการเรียนการสอน
ในการดำเนินภารกิจการสอน ครูจะต้องมีการวางแผนจัดการเรียนรู้และตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้นๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อเป็นข้อมูลในเตรียมเนื้อหาบทเรียนและวิธีการสอนที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์คือการที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การจัดระบบการเรียนการสอนคือกระบวนการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สอนว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และถ้าหากมีปัญหาหรือความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุด การเรียนการสอนจึงมีการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง  เป้าหมายหลักของการจัดระบบการเรียนการสอนมี 2 ประการคือ 
  • เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยใช้วิธีการต่างๆ ในการเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
  • เพื่อออกแบบระบบการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการที่เป็นระบบในการออกแบบ การวางแผน การนำไปใช้ และการประเมินกระบวนการทั้งหมดของระบบการสอนนั้น 
ระบบการเรียนการสอนต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วนมาร่วมกันทำงานให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ  อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบพื้นฐานของระบบการเรียนการสอนซึ่งขาดไม่ได้มี 4 ประการ (กิดานันท์ มลิทอง, 2540) คือ
  • ผู้เรียน ต้องมีการพิจารณาลักษณะของผู้เรียนเพื่อการออกแบบกิจกรรมหรือโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
  • วัตถุประสงค์ ต้องมีการตั้งวัตถุประสงค์ว่า ต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใดบ้างในการสอนนั้น
  • วิธีการและกิจกรรม ต้องมีการกำหนดวิธีการและกิจกรรมในการเรียนรู้ว่าควรมีอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดได้
  • การประเมิน  ต้องมีการกำหนดวิธีการประเมินเพื่อตัดสินว่าการเรียนรู้นั้นประสบผลตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้หรือไม่
เมื่อการออกแบบระบบการเรียนการสอน (instructional system design) เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการว่าเป็นการพัฒนาการเรียนการสอน รูปแบบสำหรับการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design model) ที่เป็นพื้นฐานทั่วไปคือ ADDIE ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของขั้นตอนในการออกแบบ คือ A-analyze การวิเคราะห์ความจำเป็นหรือปัญหาอุปสรรค ตัดสินใจว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไร D-design การกำหนดว่าจะเรียนรู้อย่างไร ระบุกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล เลือกวิธีการและสื่อ   D-develop  การสร้างและผลิตเครื่องมือต่างๆ  ตรวจสอบและปรับปรุง   I-implement การนำแผนหรือโครงการไปปฏิบัติ   E-evaluate   การพิจารณาความเหมาะสมของการเรียนการสอน ประเมินทุกอย่างที่ผ่านมา ปรับปรุงเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป (Braxton, Bronico, & Looms, 2000; Malachowski, 2002)   อย่างไรก็ตาม มีนักการศึกษาหลายท่าน คิดรูปแบบ/แบบจำลองระบบการสอนขึ้นมาอย่างหลากหลาย เพื่อให้สามารถเลือกใช้เป็นแนวปฏิบัติในการออกแบบการเรียนการสอน การจัดเรียนการสอน หรือการแก้ปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นได้ตามความต้องการของผู้ใช้  รูปแบบที่มีการอ้างถึงอย่างแพร่หลาย มีดังนี้คือ
Klaussner (1971) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอนให้มี 7 องค์ประกอบ คือ 1) กำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน 2) เตรียมความพร้อมของนักเรียน 3) จัดเนื้อหาวิชา วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ 4) จัดกิจกรรมการเรียนการสอน 5) ดำเนินการสอน 6) วัดสัมฤทธิ์ผลของนักเรียน และ 7) การจัดและประเมินผลการเรียนการสอน
Gerlach & Ely (1980)  ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอน 10 ขั้นตอน ซึ่งได้รับการอ้างถึงในวงการศึกษาไทยอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย 1) การกำหนดวัตถุประสงค์ โดยควรจะเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะหรือวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติและผู้สอนสามารถวัดหรือสังเกตได้ 2) การกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ 3) การประเมินผลพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้เรียนก่อนการเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม 4) การกำหนดกลยุทธ์ของวิธีการสอน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ การสอนแบบเตรียมเนื้อหาความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยสมบูรณ์ทั้งหมด และการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  5) การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน เหมาะสมกับวิธีสอน 6) การกำหนดเวลาเรียน 7) การจัดสถานที่เรียน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ขนาด คือ ห้องเรียนขนาดใหญ่ สามารถสอนได้ครั้งละ 50-300 คน ห้องเรียนขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย และห้องเรียนแบบเสรีหรืออิสระ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามลำพังแบบรายบุคคล  8) การเลือกสรรทรัพยากรหรือสื่อการสอน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 5 ประเภท คือ สื่อบุคคลและของจริง สื่อวัสดุและอุปกรณ์เครื่องฉาย  สื่อวัสดุและอุปกรณ์เครื่องเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวัสดุที่ใช้แสดงต่างๆ  9) การประเมินผลพฤติกรรมของผู้เรียนที่เกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนกับสื่อการสอน  และ 10) การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับเพื่อพิจารณาว่าการดำเนินงานตั้งแต่ต้นมานั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้างในระบบ หรือมีปัญหาประการใดบ้าง สำหรับเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบ    การสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Brown, Lewis & Harcleroad (1985) ออกแบบวิธีที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน โดยการพิจารณาถึงแนวทางและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อที่ผู้สอนจะได้สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถและความสนใจของผู้เรียน โดยแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบ คือ 1) เป้าหมาย 2) วัตถุประสงค์และเนื้อหา 3) สภาพการณ์ และ 4) ผลลัพธ์
Knirk & Gustafson (1986) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการสอนให้มี 3 ส่วน    โดยแต่ละส่วนมีองค์ประกอบย่อยที่ดำเนินงานสัมพันธ์กัน  คือ   1) การกำหนดปัญหา  ประกอบด้วย  เป้าหมายการเรียนการสอนระบุปัญหาระดับทักษะแรกเริ่มของผู้เรียน - การจัดระบบ 2) การ     ออกแบบ ประกอบด้วย พัฒนาวัตถุประสงค์กำหนดกลยุทธ์ - กำหนดสื่อ และ 3) การพัฒนา ประกอบด้วย เลือกวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาวิเคราะห์ผลลัพธ์ทบทวนอุปกรณ์เครื่องมือ -นำไปใช้
Hannafin & Peck (1988)  ออกแบบวิธีระบบที่มีองค์ประกอบในการดำเนินงาน 3 ระยะคือ 1) การหาความจำเป็น 2) การออกแบบ และ 3) การพัฒนาและนำไปใช้ ทั้งนี้ทุกระยะ    จะต้องมีการประเมินและปรับปรุง
Tripp & Bichelmeyer (1990) เสนอรูปแบบที่เรียกว่าการสร้างต้นแบบฉับพลัน (rapid prototyping) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้น คือ 1) การหาความจำเป็น วิเคราะห์เนื้อหา และกำหนดวัตถุประสงค์ 2) การสร้างต้นแบบหรือการออกแบบ 3) การนำต้นแบบไปใช้หรือการทำวิจัย และ 4) การวางระบบและดูแลรักษาระบบ  สำหรับรูปแบบนี้เหมาะสำหรับนักออกแบบการเรียนการสอนที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เดิมมากจึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   แม้จะมีคำว่าฉับพลันในชื่อของรูปแบบ  แต่การดำเนินงานตามรูปแบบนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะเป็นรูปแบบขั้นสูงที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือนักออกแบบที่ต้องทำวิจัย
Gagné, Briggs, & Wager (1992). เสนอรูปแบบสำหรับออกแบบการเรียนการสอนที่เรียกชื่อว่า Gagné & Briggs model ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการศึกษาไทยมานานกว่า 30 ปี (Gagné & Briggs, 1974) รูปแบบนี้จะใช้หลังจากมีการจัดประเภทของผลลัพธ์การเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ สำหรับการจัดระบบสภาพการณ์การเรียนการสอนของแต่ละผลลัพธ์  การเรียนรู้ ซึ่งมีการดำเนินงาน 9 ขั้นคือ 1) สร้างความสนใจ 2) ฟื้นฟูข้อมูลที่มีอยู่เดิม 3) บอก     วัตถุประสงค์แก่ผู้เรียน 4) นำเสนอวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสิ่งเร้า 5) แนะแนวทางการเรียนรู้ 6) ให้ผู้เรียนแสดงความสามารถ 7) ให้ข้อมูลย้อนกลับ 8) ประเมินการปฏิบัติของผู้เรียน และ 9) เพิ่มความคงทนในการเรียนรู้
Kemp, Morrison, & Ross (1994) นำเสนอวิธีระบบในจัดการเรียนการสอนที่ Kemp (1985) ได้ออกแบบไว้ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ 9 ขั้นตอนคือ 1) กำหนดหัวข้อที่จะสอน และเขียนวัตถุประสงค์ทั่วไป 2) ศึกษาคุณลักษณะของผู้เรียน 3) ระบุจุดมุ่งหมายของการสอนในเชิงพฤติกรรม 4) กำหนดเนื้อหาวิชาที่สนับสนุนวัตถุประสงค์แต่ละข้อ 5) ทดสอบเพื่อวัดความรู้    ความสามารถของผู้เรียนก่อนที่จะทำการสอน 6) เลือกกิจกรรมและแหล่งวิชาการสำหรับการเรียนการสอนเพื่อจะนำเนื้อหาวิชาไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่วางไว้ 7) ประสานงานในเรื่องต่างๆ เช่น การเงิน บุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ และดำเนินการไปตามแผนที่กำหนดไว้ 8) ประเมินผลการเรียนของผู้เรียนว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใด และ 9) พิจารณาดูว่าควรจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงแผนการเรียนการสอนให้ดีขึ้นอย่างไร
Glasser (1998)  ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอนให้มี 5 ขั้นตอนคือ 1) จุดประสงค์ของการสอน 2) การประเมินสถานะของผู้เรียน 3) การจัดกระบวนการเรียนการสอน 4). การประเมินผลการเรียนการสอน และ 5) ข้อมูลย้อนกลับไปยังแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมา
Dick, Carey, & Carey (2001) เสนอรูปแบบสำหรับนำไปใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่รู้จักกันในชื่อว่า Dick & Carey model มี 10 ขั้นตอนคือ 1) ระบุเป้าหมายของการเรียนการสอน  2) วิเคราะห์การเรียนการสอน  3) ระบุพฤติกรรมพื้นฐานของผู้เรียน  4) เขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม 5) พัฒนาแบบการทดสอบอิงเกณฑ์ 6) พัฒนากลยุทธ์ในการเรียนการสอน 7) พัฒนาและเลือกสื่อการเรียนการสอน  8) พัฒนาและดำเนินการประเมินผลระหว่างการเรียนการสอน      9) พัฒนาและประเมินหลังการเรียนการสอน และ 10) ทบทวนการจัดการเรียนการสอน โดย       ขั้นตอนนี้จะกระทำเป็นระยะๆ ในแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมา
ทิศนา แขมมณี (2545) เสนอรูปแบบการออกแบบการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบที่ผู้ออกแบบต้องพิจารณาตามลำดับขั้น 5 ส่วน คือ 1) หลักสูตร ปัญหาความต้องการของผู้เรียน    ผู้สอน 2) เนื้อหา มโนทัศน์ วัตถุประสงค์ 3) ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีในการสอน 4) กิจกรรมการเรียนการสอนและสื่อ  และ 5) การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน    ทั้งนี้ ตั้งแต่ส่วนที่ 2 เป็นต้นมา    จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านต่างๆ อาทิ  ผู้เรียน  ผู้สอน  ผู้บริหารโรงเรียน  สถานที่  สื่อ  งบประมาณ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้ปกครอง ฯลฯ   นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอรูปแบบการสอน CIPPA ในการจัดทำแผนการเรียนรู้ด้วย ซึ่งมี 5 ขั้นตอน คือ  C-construction  การสร้างความรู้ของผู้เรียน  I-interaction กิจกรรมที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์  P-physical participation การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย  P-process learning การเรียนรู้กระบวนการต่างๆ  และ A-application การนำความรู้ที่ได้เรียนไปประยุกต์ใช้
จากการศึกษารายละเอียดของรูปแบบการออกแบบระบบการเรียนการสอนของนักวิชาการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว  ผู้เขียนสามารถสังเคราะห์องค์ประกอบของระบบการเรียนการสอนที่มีการดำเนินงานสัมพันธ์กันเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ดังนี้คือ 1) ความจำเป็นหรือความต้องการในการจัดการเรียนการสอน  2) ผู้เรียน  3) สภาพแวดล้อม  4) ผู้สอน 5) จุดมุ่งหมาย 6) วิธีการสอน 7) เนื้อหา 8) แผนการจัดการเรียนการสอน 9) เวลาเรียน 10) วิธีการเรียนหรือกิจกรรมการเรียน 11) ทรัพยากรในการเรียนการสอน 12) การควบคุม ตรวจสอบและประเมินผล  และ 13) ข้อมูลย้อนกลับ